โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ซิฟิลิส ภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

โรคซิฟิลิส คือ อะไร ?

ซิฟิลิสเป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema pallidum)  ปัจจุบันแนวโน้มการติดเชื้อซิฟิลิส เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น รักร่วมเพศ หญิงตั้งครรภ์ ถ้าไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ๆ สามารถนำไปสู่อาการและภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและระยะยาวได้ โดยพบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อซิฟิลิสมีโอกาสสูงขึ้นในการติดเชื้อ HIV มากกว่าคนไม่ได้ติดเชื้อซิฟิลิส

ติดต่อได้อย่างไร ?

1) การมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก และปาก
2) สัมผัสแผลโดยตรงผ่านผิวหนังที่ฉีกขาดหรือเยื่อบุอ่อนของร่างกาย การจูบปาก
3) รับเลือดจากผู้ติดเชื้อ หรือการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
4) จากแม่สู่บุตรขณะตั้งครรภ์

การใช้ของสาธารณะร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตู ห้องน้ำสาธารณะ อ่างอาบน้ำ สระว่ายน้ำ การใช้ภาชนะอุปกรณ์ทานอาหารร่วมกัน ของใช้เสื้อผ้าต่าง ๆ ไม่สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อซิฟิลิสได้ เพราะเชื้อซิฟิลิส จะตายได้ง่ายเมื่อออกมาเจอสภาวะอากาศที่แห้งภายนอกหรือโดนน้ำยาทำความสะอาดหรือสารเคมีต่าง ๆ เช่น สบู่ แชมพู ผงซักฟอก หรือคลอรีนในน้ำประปา

อาการของโรคซิฟิลิสเป็นอย่างไร ? 

ซิฟิลิสระยะที่ 1 :  เกิดขึ้นหลังได้รับเชื้อมา 9-90 วัน จะเกิดแผลบริเวณอวัยวะที่รับการติดเชื้อ เช่น ในช่องคลอด ทวารหนัก อวัยวะเพศ ริมฝีปากหรือภายในช่องปาก โดยลักษณะแผลจะเป็นแผลขอบแข็งยกนูน พื้นผิวในแผลสีแดงหรือสีเนื้อ มักเป็นแผลเดียว หรือหลายแผลได้ ที่สำคัญคือแผลไม่เจ็บ เรียกว่า แผลริมแข็ง โดยแผลสามารถหายไปได้เองภายใน 2-8 สัปดาห์โดยแทบไม่ทิ้งรอยโรคไว้

ซิฟิลิสระยะที่ 2 : เชื้อจะแพร่กระจายไปส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หลังจากพบแผลริมแข็งขึ้นประมาณ 4-10 สัปดาห์ จึงมีอาการแสดงของโรคหลายอย่าง เช่น ผื่นแดงขึ้นตามตัวแต่ไม่มีอาการคันร่วมด้วย (พบได้มากสุด), ผื่นขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ไรผม, ผมร่วงเป็นหย่อมๆ, มีอาการไข้ ,ครั่นเนื้อครั่นตัว ,ปวดศีรษะ, คลำได้ต่อมน้ำเหลืองโต, เจ็บคอ สามารถพบผื่นยกนูนคล้ายหูดขึ้นที่อวัยวะเพศ หรือทวารหนักได้ โดยจะมีอาการในระยะนี้ไม่กี่สัปดาห์ อาการจะหายไปได้เอง แม้ไม่ได้ทำการรักษาใดๆ อาจกลับมามีอาการในระยะนี้อีกได้หลังเข้าสู่ระยะแฝงแล้ว

ซิฟิลิสระยะแฝง : เกิดขึ้นในกรณีที่ซิฟิลิสระยะที่ 1 หรือระยะที่ 2 ไม่ได้รับการรักษา การดำเนินโรคจะเข้าสู่ระยะแฝง คือ ไม่แสดงอาการใด ๆ เลย ตรวจพบว่าติดเชื้อซิฟิลิสระยะนี้จากการตรวจเลือด

ซิฟิลิสระยะที่ 3 : เมื่อระยะของโรคดำเนินไปหลายปี โดยไม่ได้รับการรักษา จะเข้าสู่ซิฟิลิสระยะที่ 3 ที่เชื้อซิฟิลิสเข้าไปทำลายอวัยวะในร่างกายหลายระบบ เช่น ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบผิวหนัง กล้ามเนื้อกระดูก ระบประสาท เป็นต้น ซึ่งเป็นระยะของโรคที่รุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อนมาก

จะทราบได้อย่างไรว่าติดเชื้อซิฟิลิสหรือไม่ ?

มีอาการหรือรอยโรคดังที่กล่าวมาข้างต้น มีประวัติสัมผัสกับคนที่ติดเชื้อซิฟิลิสหรือสงสัยว่าเป็นซิฟิลิส หรือมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ให้มาตรวจพบแพทย์และเข้ารับการตรวจเลือดคัดกรองเชื้อซิฟิลิส รวมทั้งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ หรือในบางรายที่มีอาการทางระบบประสาทหรือสงสัยติดเชื้อซิฟิลิสในระบบประสาทอาจต้องตรวจน้ำไขสันหลังร่วมด้วย

การรักษาโรคซิฟิลิส

ซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายขาดได้ในระยะแรก ๆ ของโรค โดยใช้ยาปฏิชีวนะ เพนิซิลลิน (Penicillin) ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ การรักษาขึ้นอยู่กับระยะชองโรค หลังฉีดยารักษาครบตามกำหนด แนะนำให้ตรวจเลือดติดตามค่าระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคในเลือดซึ่งควรลดลงอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด

หลังฉีดยารักษาไปแล้วในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการ ไข้สูง หนาวสั่น ผื่นแดงมากขึ้นตามตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อ ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปได้เองภายใน 24 ชั่วโมง โดยเกิดจากซากเชื้อซิฟิลิสที่ตายทำปฏิกิริยากับภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้เกิดอาการดังกล่าว เรียกว่า ปฏิกิริยาจาริช-เฮิร์กไซเมอร์ (Jarisch-Herxheimer Reaction) โดยสามารถทานยาลดไข้ พักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยบรรเทาอาการได้ ทั้งนี้อาการจากปฏิกิริยาดังกล่าว คล้ายกับอาการแพ้ยาได้ แนะนำให้สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ในคนที่ไม่เคยได้รับยาที่มีส่วนผสมของเพนิซิลลินมาก่อน ถ้าสงสัยเป็นอาการแพ้ยา แนะนำให้รีบไปปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาล

การป้องกันการติดเชื้อซิฟิลิส

  • งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นที่ไม่ใช่คู่นอนของตนเอง
  • งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่มีแผลที่อวัยวะเพศ ทวารหนัก ปาก
  • ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ โดยแผลที่เป็นซิฟิลิสต้องอยู่ภายในถุงยางอนามัยด้วย
  • การตรวจสุขภาพ ตรวจเลือดคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ ในกรณีที่มีประวัติได้รับความเสี่ยงการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ หรือคู่นอนติดเชื้อหรือสงสัยติดเชื้อซิฟิลิส
  • งดมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ติดเชื้อซิฟิลิส จนกว่าจะรักษาหายเป็นปกติ
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ขณะหรือหลังมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีการใช้ยากล่อมประสาทหรือยาเสพติด เพราะนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันได้

ข้อมูลโดย : แพทย์หญิงธัญพร พิพรรธน์ทวีพร
กลุ่มงานการแพทย์และสาธารณสุข ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย
ข้อมูล ณ วันที่ 22 มิถุนายน 2566

Similar Posts